วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทรัพย์สินที่ประหยัดพลังงานจะช่วยประหยัดภาษีได้อย่างไร

ที่มา http://www.rd.go.th/publish/29518.0.html

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่  145)
เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิม

------------------------------------

                               อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 436) พ.ศ. 2548 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิมดังต่อไปนี้

                             ข้อ 1 “ทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน” หมายความว่า อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงที่ประหยัดพลังงานและ/หรือลดความต้องการพลังงาน ซึ่งสามารถทำงานครบกระบวนการด้วยตัวเอง ที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานว่ามีผลต่อการประหยัดพลังงาน

                             ข้อ 2  “ค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน” หมายความว่า มูลค่าของอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน

                             ข้อ 3  ค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิมที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8

                             ข้อ 4 ทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์เดิมต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งสินค้า ใบแจ้งหนี้ สัญญาซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน บัญชีทรัพย์สิน หรือเอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกัน และทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานที่นำมาปรับเปลี่ยนต้องเป็นการได้มาโดยมีค่าตอบแทน และพร้อมใช้งานได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549

                            ข้อ 5 ทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานที่นำมาปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิม ต้องเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกันกับทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์เดิมก่อนมีการปรับเปลี่ยน

                            ข้อ 6 ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิม ต้องเป็นผู้ประกอบการซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(6)(7) หรือ (8) และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยขอใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร และหากผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยขอใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในปีภาษีใด ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ปีภาษีนั้น

                             ข้อ 7 ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแทนอุปกรณ์เดิม ต้องยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานให้ตรวจสอบและได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานตามหลักเกณฑ์ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกำหนด
                                    ผู้ประกอบการซึ่งได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง หากได้ขายทรัพย์สินดังกล่าวในปีใด ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตั้งแต่ปีที่ขายทรัพย์สินดังกล่าวนั้น

                            ข้อ 8 ผู้ประกอบการที่จะขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 7 ต้องไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนจากส่วนราชการโดยตรงเพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงานโครงการอื่นใด

                            ข้อ 9 ในกรณีที่มีปัญหาที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของประกาศนี้ได้ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม  พ.ศ. 2548

ศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์
(นายศิโรตม์  สวัสดิ์พาณิชย์)
อธิบดีกรมสรรพากร

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
กระทรวงการคลังขยายเวลาอีก 2 ปี ลดภาษี 25% ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมครม.วันที่ 20 เม.ย. กระทรวงการคลัง เสนอให้ครม.พิจารณา เรื่อง มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยขอความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานออกไปอีก 2 ปี และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..)พ.ศ. ....

ซึ่งสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดให้ยกเว้นเงินได้ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะและวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่ใช้กับยานพาหนะ เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของค่าใช้จ่ายนั้น ให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยัง กำหนดให้ทรัพย์สินประเภทวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานตามมาตรา 3 ต้องเป็นทรัพย์สินที่ไม่เคยผ่านการใช้งาน ซึ่งได้ซื้อมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามประสงค์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โดยได้รับการรับรองจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ว่าเป็นวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้ ทั้งนี้ ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่สภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ตามประสงค์

ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ 
ไทยรัฐ
วันที่โพส : 2011-04-19 08:53:57

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว ปัจจุบันกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมมือกับกรมสรรพากรออกมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้อีกด้วย หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์นี้
     
       ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ที่สามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้นี้ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดา บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 180) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน
     
       กรณีบุคคลธรรมดาที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ต้องเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 180) โดยมาตรา 40 (5) เป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ขณะที่มาตรา 40 (6) เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม และวิชาชีพอิสระอื่น และมาตรา 40 (7) เป็นเงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ สำหรับมาตรา 40 (8) เป็นรายได้จากธุรกิจ พาณิชย์ เกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40 (1) ถึง (7)
     
       ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องซื้อทรัพย์สินประเภทอุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้รับรองว่ามีผลต่อการประหยัดพลังงาน โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจริงตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และต้องมีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 180)
     
       ประเภทของวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรนั้น ต้อง 2 ข้อ และต้องไม่ 5 ข้อ ประกอบด้วย ต้องจัดซื้อ และเป็นของใหม่ที่ไม่เคยผ่านการใช้งาน และต้องดำเนินการติดตั้งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 อีกทั้งต้องได้รับการรับรองจาก พพ.ว่ามีผลต่อการประหยัดพลังงาน โดยต้องไม่ได้รับ หรืออยู่ระหว่างการรับสิทธิประโยชน์จากส่วนราชการเพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน ต้องไม่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่ว่าจะทั้งหมด หรือบางส่วนก็ตาม
     
       ต้องไม่เกิดจากรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 ต้องไม่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549 รวมถึงต้องไม่ใช้ในการประกอบกิจการซึ่งซื้อทดแทนเครื่องจักรเก่า และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549
     
       การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะส่งรายชื่อวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่ได้รับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เพิ่มเติมให้ พพ.เพื่อพิจารณาอนุมัติ และประกาศใช้ต่อไป อีกทั้ง พพ.ก็จะรวบรวมรายชื่อที่ได้รับฉลากประสิทธิภาพสูงจากโครงการส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานของ พพ.
     
       ตามประกาศอธิบดี พพ. เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักรที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน (ฉบับที่ 1 ถึง 5) พ.ศ. 2553 พพ. ได้ประกาศแล้วจำนวนมากกว่า 15 ประเภท (ตาม http://www.energy-tax.com) และจะประกาศเพิ่มเติมตลอดระยะเวลาของโครงการ โดยที่ได้ประกาศแล้ว ประกอบด้วย
     
       - ตู้เย็นเบอร์ 5 โดยเบอร์ 5 หมายถึง ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ภายใต้โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ของ กฟผ. อีกทั้งผ่านเกณฑ์ด้านประสิทธิภาพพลังงานตู้เย็น
     
       - เครื่องปรับอากาศเบอร์ 5 แบบแยกส่วน ที่ผ่านเกณฑ์ด้านระบายความร้อน และระดับประสิทธิภาพ
     
       - หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์เบอร์ 5 ที่ผ่านเกณฑ์ด้านขนาดวัตต์ และประสิทธิภาพลูเมนต่อวัตต์ขั้นต่ำ
     
       - หลอดฟลูออเรสเซนต์ T5 เบอร์ 5 และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติด้านค่าประสิทธิภาพพลังงาน ดัชนีความถูกต้องสี อายุการใช้งาน ผ่านการรับรอง มอก. และขนาดหลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น
     
       - บัลลาสต์แกนเหล็กนิรภัยเบอร์ 5 และผ่านเกณฑ์ขนาดค่ากำลังไฟฟ้าสูญเสีย และค่ากระแส
     
       - บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ T5 เบอร์ 5 และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเฉพาะ เช่น กำลังไฟฟ้าเข้ารวม ตัวประกอบกำลัง ชนิดวงจร อายุการใช้งาน การจุดหลอด และผ่านการรับรอง มอก. เป็นต้น
     
       - พัดลมไฟฟ้าเบอร์ 5 และมีคุณลักษณะเฉพาะตามเกณฑ์ของขนาดใบพัด อัตราการระบายอากาศขั้นต่ำ และค่าประสิทธิภาพการใช้งาน
     
       - หม้อหุงข้าวไฟฟ้าเบอร์ 5 และผ่านเกณฑ์ระดับประสิทธิภาพสำหรับค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการหุงเฉลี่ย
     
       - โคมไฟฟ้าเบอร์ 5 และผ่านเกณฑ์ด้านแบบ และเกณฑ์ประสิทธิภาพ เช่น ค่าแสงบาดตา ค่าสัมประสิทธิ์การใช้งานของแสง และค่าความสว่าง เป็นต้น
     
       - โคมไฟฟ้าชนิดส่องลงเบอร์ 5 และผ่านเกณฑ์ด้านแบบ และเกณฑ์ประสิทธิภาพด้านมุมกระจายแสงที่ออก และค่าความส่องสว่าง
     
       - เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้รับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงภายใต้การส่งเสริมเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานของ พพ. และผ่านเกณฑ์ค่าประสิทธิภาพเชิงความร้อนขั้นสูง และมาตรฐานการทดสอบ
     
       - อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ที่ได้รับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงของ พพ. และผ่านเกณฑ์ค่าประสิทธิภาพ และมาตรฐานการทดสอบ
     
       - กระจกที่ได้รับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงของ พพ. และผ่านเกณฑ์ค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ ค่าการส่องผ่านของแสงธรรมชาติต่อค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ และมาตรฐานการทดสอบ
     
       - ฉนวนใยแก้วที่ได้รับฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงของ พพ. และผ่านเกณฑ์ค่าความต้านทานความร้อน และมาตรฐานการทดสอบ
     
       - เครื่องทำน้ำเย็นสำหรับระบบปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง แยกตามชนิดการระบายความร้อน แบบของเครื่องอัดไอที่ผ่านเกณฑ์ด้านขนาดความสามารถในการทำความเย็น และค่าสมรรถนะการทำความเย็น
     
       - เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง แยกตามขนาดกำลังไฟฟ้า ที่ผ่านเกณฑ์ด้านค่าประสิทธิภาพพลังงาน
     
       - กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง แยกตามขนาดความจุ ที่ผ่านเกณฑ์ค่าประสิทธิภาพพลังงาน
     
       - มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟสที่มีประสิทธิภาพสูง และผ่านเกณฑ์ด้านค่าประสิทธิภาพพลังงาน
     
       - หม้อไอน้ำ ที่ผ่านเกณฑ์ด้านค่าประสิทธิภาพ
     
       - เครื่องทำน้ำร้อนชนิดฮีตปั๊มแบบใช้อากาศเป็นแหล่งพลังงาน ที่ผ่านเกณฑ์ค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ
     
       สำหรับประโยชน์ที่ผู้ขอรับสิทธิจะได้รับเป็นรายจ่ายทางภาษีจำนวนร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร วัสดุ หรืออุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงานซึ่งได้รับการรับรองจาก พพ. ฉะนั้นสิทธิประโยชน์ = 0.25 x ค่าใช้จ่ายเครื่องจักร วัสดุ หรืออุปกรณ์ที่มีผลต่อการประหยัดพลังงาน
     
       กรณีผู้บริโภคที่อาจเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (6) (7) (8) หรือนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ขอรับสิทธิลดหย่อนภาษี ซื้อเครื่องจักร วัสดุ หรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ พพ. ให้การรับรองตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 โดยขอใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อ ยี่ห้อ รุ่นของเครื่องจักร วัสดุ หรืออุปกรณ์นั้นให้ชัดเจน กรอกตามเอกสารแนบท้ายประกาศอธิบดี พพ. ฉบับที่ 180 (ตามhttp://www.energytax.com/Downloads/Announment/add-180.pdf) ขอใช้สิทธิเป็นรายจ่ายทางภาษีในแบบ ภงด.90 (สำหรับบุคคลธรรมดา) และแบบ ภงด.50 (สำหรับนิติบุคคล) ซึ่งจะมีช่องบันทึกค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ เพื่อยื่นต่อกรมสรรพากรต่อไป
     
       กรณีผู้ผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายที่ต้องการขอรับรองเครื่องจักร วัสดุ หรืออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน โดยเริ่มด้วยการตรวจสอบว่า เครื่องจักร วัสดุ หรืออุปกรณ์นั้นอยู่ในรายการ และผ่านเกณฑ์คุณลักษณะที่ พพ. ประกาศหรือไม่ หากผ่านเกณฑ์จึงกรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการระหว่างธันวาคม 2552 ถึงกันยายน 2553 ตาม http://www.energy-tax.com/menu_3.html ส่งใบสมัครตาม http://www.energy-tax.com/menu_2.html ซึ่ง พพ. จะประกาศให้การรับรองต่อไป
     
       ด้วยนโยบายฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และลดการขาดดุลการค้าของประเทศ ขณะเดียวกันก็ให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีแก่ผู้ซื้อ ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาที่กำหนดถึงสิ้นปี 2553 นี้เท่านั้น ฉะนั้น ผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อที่ต้องการใช้สิทธิจากกรมสรรพากร (ถึง 31 ธันวาคม 2553) หรือผู้ขายเครื่องจักร วัสดุ หรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่ต้องการขอการรับรองจาก พพ. (ถึงกันยายน 2553) ไม่ควรพลาด
     
       ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th




space

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น