วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วันที่ 6 กค. 2554

http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9/97912/%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87-2554-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

ปิดฉากเลือกตั้ง 2554 กับสถิติการเมืองไทย

รวมสถิติการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2554 ซึ่งนับว่ามีการสร้างสถิติใหม่ที่น่าสนใจไว้มากมาย
โดย...ทีมข่าวการเมือง
กำลังจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย นาม “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จากพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ได้สร้างสถิติที่น่าสนใจไว้มากมาย ซึ่งทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ได้รวบรวมเอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1."ชินวัตร"สร้างประวัติศาสตร์เลือกตั้ง
นับตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2541 และลงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าการเลือกตั้งทั่วไป 4 ครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ ปี 2544 2548 2550 และ 2554 ไม่เคยแพ้เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ในชัยชนะดังกล่าวยังได้สร้างสถิติใหม่ๆ ให้กับการเมืองไทยด้วย เช่น เป็นรัฐบาลชุดแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่อยู่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี (2544-2548) ส่วนการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ สส.ถึง 377 คน จากทั้งหมด 500 คน จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรก
แม้ว่าในปี 2550 พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ และต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น “พรรคพลังประชาชน” แต่เมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งในปีเดียวกันก็ยังกำชัยชนะไว้ได้ภายใต้การกุม บังเหียนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยคะแนนเสียง 233 เสียง และถึงจะถูกยุบพรรคอีกรอบต้องเปลี่ยนมาเป็น “พรรคเพื่อไทย” ก็ยังชนะการเลือกตั้งได้อย่างท่วมท้นถึง 265 เสียง ปูทาง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศ
2."ประชาธิปัตย์"ไม่เคยชนะมา 19 ปี
เมื่อเอ่ยถึงชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ถ้าจะไม่เอ่ยถึงพรรคประชาธิปัตย์คงจะไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งปี 2554 ได้เป็นการเพิ่มสถิติให้กับพรรคการเมืองนี้อย่างไม่เต็มใจ ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ชนะการเลือกตั้งมาแล้วถึง 19 ปี โดยชัยชนะครั้งล่าสุดของพรรคต้องย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ย. 2535 ครั้งนั้นพรรคได้เสียงข้างมากจำนวน 79 คน และได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมี ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ได้เข้าบริหารประเทศเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ก่อนสิ้นสุดตำแหน่งด้วยการประกาศยุบสภา
นับจากนั้นเป็นต้นมา การเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์อีก 2 ครั้งต่อมา ในปี 2540-2543 และ 2551-2554 ล้วนเป็นรัฐบาลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระหว่างอายุสภาผู้แทน ราษฎร ซึ่งทำให้การเมืองเกิดการเปลี่ยนขั้วให้ ชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกฯ สมัย 2 ในปี 2540 และสร้างฝันให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำประเทศครั้งแรกในปี 2551 ซึ่งการเป็นนายกฯ ในครั้งหลัง ยังเป็นการหยุดการเป็นฝ่ายค้านของพรรคประชาธิปัตย์ที่กินเวลามานานถึง 8 ปีเต็ม
3.เซอร์ไพรส์ทางการเมือง
เซอร์ไพรส์การเมืองในที่นี้มี 2 แบบ โดยแบบแรกเป็นแบบ “ไม่คาดว่าจะได้” คงต้องยกให้กับ พัชรินทร์ มั่นปาน พรรคประชาธิปไตยใหม่ และอภิรัต ศิรินาวิน จากพรรคมหาชน ซึ่งเป็น 2 พรรคการเมืองม้านอกสายตา โดยแทบไม่รู้มาก่อนเลยว่าส่งลงสมัคร สส.ด้วย หรือแม้แต่พรรครักประเทศไทยของ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” ก็สามารถสร้างกระแสจนพา สส.เข้าสภาได้ถึง 4 คน คงต้องรอดูว่าพรรคเบี้ยหัวแตกเหล่านี้จะสร้างผลงานการทำงานในฐานะฝ่าย นิติบัญญัติได้จี๊ดจ๊าดขนาดไหน
เมื่อมีคนได้แบบไม่คาดคิดแล้ว ก็ต้องมีพวกสอบตกแบบไม่คาดคิดเช่นกัน ส่วนใหญ่ต้องจัดอยู่ในพวก “รัฐมนตรีสอบตก” เริ่มที่ “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” รมช.คลัง พรรคชาติไทยพัฒนา เจ้าของนโยบายกุญแจสองดอก รอบนี้สอบตกในตำแหน่งผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 เพราะคะแนนของพรรคพา สส.ปาร์ตี้ลิสต์เข้าสภาแค่ 4 คนเท่านั้น
“ศุภชัย โพธิ์สุ” รมช.เกษตรและสหกรณ์ ของพรรคภูมิใจไทย แม้ว่าจะเป็นเจ้าของพื้นที่เขต 1 จ.นครพนม อยู่มาอย่างยาวนาน แต่มาเที่ยวนี้แพ้ให้กับ “ยุทธจักร เรืองวรบูรณ์” ของพรรคเพื่อไทยแบบไม่มีทางสู้ เช่นเดียวกับ “ไชยยศ จิรเมธากร” รมช.ศึกษาธิการ ลงสมัครเขต 4 อุดรธานี ในนามพรรคประชาธิปัตย์ จากเดิมอยู่กับพรรคเพื่อแผ่นดิน สุดท้ายก็ต้องจอดป้ายเอาไว้แค่นี้ เพื่อให้ “ขจิตร ชัยนิคม” จากพรรคเพื่อไทยเข้าไปทำหน้าที่ สส.แทน
ที่สำคัญคงจะขาดไปไม่ได้สำหรับ “สุวิทย์ คุณกิตติ” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานพรรคกิจสังคม ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 โดยไปไม่ถึงดวงดาวอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกันแล้วที่นักการเมืองใหญ่ภาคอีสานรายนี้สอบตก
4.หายยกครัวเฮ! ยกกลุ่ม
“ฉายแสงตันเจริญ” คือ 2 ครอบครัวที่ผูกขาดสนามเลือกตั้ง จ.ฉะเชิงเทรา มาอย่างยาวนาน ในรอบนี้ไปพลาดพลั้งอีท่าไหนถึงได้สูญพันธุ์พร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ไล่มาตั้งแต่ “ฐิติมา” พรรคเพื่อไทย เขต 1 แพ้ให้ “บุญเลิศ ไพรินทร์” ของประชาธิปัตย์ “วุฒิพงศ์” พรรคเพื่อไทย เขต 4 แพ้หมดรูปให้กับ “พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ” ของพรรคประชาธิปัตย์
ส่วน “ณัชพล” พรรคภูมิใจไทย เขต 2 แพ้ “สมชัย อัศวชัยโสภณ” จากพรรคเพื่อไทย และ “พิเชษฐ์” พรรคภูมิใจไทย เขต 3 พ่าย “รส มะลิผล” จากพรรคเพื่อไทย ไม่ต่างอะไรกับตระกูล “ไกรวัตนุสสรณ์” ของพรรคเพื่อไทย เพราะไม่สามารถครองอำนาจในสนามสมุทรสาคร โดยทั้ง “อนุสรณ์มณฑล” เสียเก้าอี้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์อย่างขาดลอย
ขณะที่ เฮ! ยกกลุ่ม ต้องยกให้กับ “คนเสื้อแดง” เพราะหลังจากสลายการชุมนุมมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ก็ได้รับการประคบประหงมจากพรรคเพื่อไทยมาตลอด โดยเฉพาะการให้ลงสมัคร สส.ในลำดับต้นกันหลายต่อหลายคน เบ็ดเสร็จ 11 คน ประกอบด้วย 1.จตุพร พรหมพันธุ์ 2.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 3.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก 4.พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย 5.นพ.เหวง โตจิราการ 6.รพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ภรรยา อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง 7.ขัตติยา สวัสดิผล ลูกสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล 8.วิภูแถลง ภูมิพัฒพงษ์ไทย 9.เยาวนิตย์ เพียงเกษ ภรรยา อดิศร เพียงเกษ 10.ก่อแก้ว พิกุลทอง และ 11.วิเชียร ขาวขำ
ที่สำคัญ กำลังจะได้ของแถมเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย ทำให้ราคาหุ้นของคนเสื้อแดงแรงพุ่งขึ้นทะลุเพดานไปแล้ว
5.เปลี่ยนสนามเลือกตั้งเป็นสนามรบ
การเลือกตั้งครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเป็นครั้งหนึ่งที่มีเหตุการณ์ความไม่ สงบมากมาย ทั้งในระดับเล็กน้อยและระดับรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยก่อนหน้านี้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง (ศรส.ลต.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สรุปตัวเลขเอาไว้อย่างไม่เป็นทางการว่า ป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ได้ถูกทำลายไปกว่า 1,527 ป้าย
ส่วนเหตุการณ์ที่ถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตได้ปรากฏเป็นที่จับตาของ สังคมด้วยกัน 3 กรณี คือ 1.วิโรจน์ ดำสนิท อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง หัวคะแนนของพรรคชาติไทย 2.สุบรรณ จิระพันธุ์วาณิช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลพบุรี หัวคะแนนพรรคภูมิใจไทย และ 3.วิทยา ศรีพุ่ม นายก อบต.ดอนใหญ่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี หัวคะแนนพรรคภูมิใจไทย นอกจากนี้ยังได้เกิดเหตุการณ์ลอบยิง ประชา ประสพดี ผู้สมัคร สส.สมุทรปราการ กลางเมืองพระประแดง แต่เคราะห์ดีที่ไม่เสียชีวิต
6.หน้าแตกกระจุย
การจัดทำบทสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (โพล) กลายเป็นสีสันหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ปรากฏว่าการทำเอกซิตโพลล์ของแต่ละสำนักเกิดปรากฏการณ์คลาดเคลื่อนอย่าง แรง เฉพาะในสนาม กทม. เพราะทันทีที่สิ้นสุดเวลา 15.00 น. ผลที่ออกมาสร้างความใจหายให้กับพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างมาก เพราะระบุว่าพรรคเพื่อไทยได้ไปถึง 22 ที่นั่ง แต่สุดท้ายประชาธิปัตย์ยังรักษาความเป็นผู้นำในสนามเมืองหลวงได้อย่างต่อ เนื่องเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ด้วยจำนวน 23 ต่อ 10 ที่นั่ง ทำให้สำนักโพลต้องรีบไปเข้าคิวใช้หลักประกันสุขภาพให้หมอเย็บหน้าโดยเร็ว
7.คนไทยรวมใจใช้สิทธิ
ประชาชนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 34,749,326 คน คิดเป็น 73.91% น้อยกว่าปี 2550 ที่มีถึง 32,759,009 คน คิดเป็น 74.45% โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเสียในระบบเขต 1,998,170 ใบ คิดเป็น 5.75% บัญชีรายชื่อ 1,679,290 ใบ คิดเป็น 4.83% และมีผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน แบบแบ่งเขต คิดเป็น 4.04% ส่วนแบบบัญชีรายชื่อ คิดเป็น 2.76% ทั้งนี้ จ.ลำพูน คว้าแชมป์ผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด 88.61%