วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความรู้ทางบัญชีและภาษี

มีคำสั่งอายัดเงินของลูกจ้าง นายจ้างทำอย่างไร?

ที่มา :http://www.dlo.co.th/node/405

ผู้เขียน: 
นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์ ที่ปรึกษากฏหมาย

มักจะมีคำถามมาจากผู้ประกอบการอยู่เสมอ เมื่อได้รับจดหมายจากกรมบังคับคดีให้อายัดเงินเดือนลูกจ้างแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หากฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างไร

ก่อนอื่น ท่านผู้อ่านจะต้องเข้าใจก่อนว่า การมีคำสั่งอายัดกรณีนี้ หมายความว่า ลูกจ้างได้ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ ลูกจ้างอาจจะเป็นหนี้จำนวนหนึ่ง เช่น หนี้บัตรเครดิตหรือหนี้เงินกู้ธนาคาร แล้วต่อมาผิดนัดไม่ใช้หนี้ จนกระทั่งลูกจ้างผ่านการถูกฟ้องคดีแพ่งและศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกจ้างชำระ หนี้แล้ว แต่ลูกจ้างไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงได้ร้องขอต่อศาลให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สิน ของลูกจ้างเพื่อออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ต่อไปตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยคงเหลือเงินให้กับลูกจ้างเพื่อดำรงชีพปกติได้เพียงไม่เกินเดือนละหนึ่ง หมื่นบาท

ผู้ประกอบการบางท่านไม่ทราบ ปล่อยปละละเลย หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าว ยังคงจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามปกติ  เนื่องจากสงสารลูกจ้าง เพราะปกติแล้วลูกจ้างถูกหักเงินหลายประเภทอยู่แล้ว ไม่ว่าจะประกันสังคม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินกู้สวัสดิการบริษัท เป็นต้น ลูกจ้างแทบจะไม่เหลือเงินพอใช้ในแต่ละเดือน  หากจะต้องหักเงินนำส่งกรมบังคับคดี ลูกจ้างจะดำรงชีวิตอยู่  จะทำงานให้ดีได้อย่างไร  แต่โปรดทราบว่า หากนายจ้างไม่ดำเนินการ  เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบชดใช้หนี้แทนลูกจ้างเสมือนกับว่า ผู้ประกอบการรายนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้

ที่กล่าวมาเป็นทฤษฏีทางกฎหมาย แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว หากผู้ประกอบการไม่ได้หักเงินลูกจ้างไว้เพื่อนำส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะ สามารถแก้ต่างต่อศาลได้หรือไม่ ซึ่งกรณีดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า  ยังคงเป็นไปได้ยากอยู่ดี เพราะถือว่า คำสั่งอายัดได้ปิดปากผู้ประกอบการเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ ผู้ประกอบการอาจแถลงต่อศาล อ้างความสุจริตของตนเพื่อขอผ่อนผันต่อศาล และดำเนินการหักเงินส่งให้กับกรมบังคับคดีจนครบจำนวน แต่หากลูกจ้างได้พ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้างไปก่อนแล้ว ผู้ประกอบการก็คงจะต้องรับผิดชดใช้ให้กับเจ้าหนี้ตามจำนวนที่มิได้หักค่า จ้างนำส่งให้กับกรมบังคับคดี เว้นแต่ฝ่ายเจ้าหนี้จะได้ทิ้งคำร้องไม่นำพยานไปสืบพิสูจน์ต่อศาลเสียแล้ว

ท้ายสุดนี้  เชื่อว่า เมื่อลูกจ้างถูกหักเงินจากผู้ประกอบการได้ไม่นาน ก็คงจะลาออกแล้วหนีไปหางานใหม่ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามตัวไม่ได้ เพราะทำงานต่อไปก็ได้เงินไม่พอใช้ ท่านผู้ประกอบการทั้งหลาย หากได้รับหมายอายัดเงินลูกจ้างเมื่อใด ให้เตรียมตัวเตรียมใจได้เลยว่า จะเสียลูกจ้างรายนี้ไปไม่เร็วก็ช้า

ข่าววันที่ 25 กค.2554

สรรพากรพร้อมปรับภาษี ลดนิติบุคคลและเพิ่มVATรับประชานิยม

ที่มา :http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9540000091266

 สรรพากรพร้อมรับนโยบายประชานิยม ระบุลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ทำได้ พร้อมชง ครม.ออกพระราชกฤษฎีกาได้ทันที ส่วน VAT ควรปรับขึ้นเพื่อหารายได้ให้สอดคล้องกับรายจ่าย ย้ำขึ้น VAT ไม่ได้ซ้ำเติมคนจนแต่จัดเก็บจากคนมีรายได้สูงที่บริโภคมาก เตรียมยกเครื่องระบบจัดเก็บขยายฐานผู้เสียภาษีพร้อมสร้างแรงจูงใจให้ทำถูก กฎหมายหวังกระตุ้นการจัดเก็บเพิ่มอีกปีละ 20%
      
       นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรรมสรรพากรได้ศึกษานโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงเพื่อเตรียมความพร้อมใน การจัดหางบประมาณสำหรับดำเนินโครงการต่างๆ ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในขณะนี้อยู่ระหว่ารอการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่ชัดเจนก่อนจากนั้นจึงจะเสนอแผนการ ดำเนินการต่างๆ ที่กรมสรรพากรศึกษาตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยให้กับรัฐมนตรีคลังคนใหม่
      
       โดยเฉพาะนโยบายการลดภาษีนิติบุคคลนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญและสอดคล้อง กับการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยสามารถลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% ได้ทันทีในปีนี้และ ลดเหลือ 20% ได้ในปีหน้าเพื่อส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มศักยภาพการผลิตรวมทั้งดึงดูดเม็ด เงินลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันในภูมิภาคอาเซียนมีเพียงประเทศไทยและฟิลิปปินส์เท่านั้น ที่จัดเก็บภาษีนิติบุคคล 30%
      
       “การลดภาษีลงเหลือ 23% และ 20% นั้นเมื่อคำนวณดูคร่าวๆ แล้วจะทำให้กรมสรรพากรสูญรายได้ไปประมาณ 1.5 แสนล้านบาททันที แต่จากประมาณการจัดเก็บรายได้ของปีนี้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้เกิน เป้าถึง 1.8 แสนล้านบาทไม่เป็นที่น่าหนักใจแต่อย่างใด ซึ่งขั้นตอนก็สามารถทำได้ทันทีโดยเสนอครม.ออกประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาก็มีผล บังคับใช้ได้ทันที ส่วนการปรับขึ้นภาษีต้องแก้ในกฎหมายประมวลรัษฎากร” นายสาธิตกล่าว
      
       นายสาธิตกล่าวว่า ส่วนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) นั้น ตามหลักการเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็ควรที่จะปรับขึ้นได้แล้วเพื่อเพิ่ม รายได้ให้กับรัฐบาลและยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลกที่ลดการจัดเก็บภาษี นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาแต่มาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูง โดยในปัจจุบันมีเพียงประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เท่านั้นที่เก็บภาษีมูลค่า เพิ่มน้อยกว่าไทยที่ 5% ส่วนที่อื่นขั้นต่ำอยู่ที่ 10% และสูงสุดถึง 30%
      
       “การเพิ่ม VAT ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเอายังไงเพราะเป็นเรื่องของนโยบาย แต่ในทางหลักการนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ควรจะทำมาตั้งนานแล้ว เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้เป็นการซ้ำเติมหรือขูดรีดคนจนตามที่ถูกกล่าวหา เพราะคนจนซื้อสินค้าส่วนใหญ่ตั้งแต่เริ่มตั้งกฎหมายการจัดเก็บภาษีมูลค่า เพิ่มก็ได้ยกเว้นสินค้าที่ส่วนใหญ่คนจนซื้ออยู่แล้ว แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มคือคนที่มีรายได้มากและมี การบริโภคในอัตราที่สูง” นายสาธิตกล่าว
      
       นายสาธิตกล่าวว่า ขณะเดียวกันกรมสรรพากรอยู่ระหว่าเตรียมยกเครื่องระบบการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ เพื่อขยายฐานการจัดเก็บภาษีและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และกระทรวงพาณิชย์เพื่อดูยอดธุรก รรมที่มีการหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาได้แบบเรียลไทม์จะทำให้ระบบการตรวจสอบภาษี มีความโปร่งใสมากขึ้นและเพิ่มข้อมูลพื้นฐานในการจัดเก็บที่ถูกต้องมากขึ้น
      
       “ระบบนี้จะจูงใจให้คนต้องการเสียภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและ ขยายฐานข้อมูลของผู้เสียภาษีทุกประเภทให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งหากดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนที่กรมสรรพากรวางไว้จะทำให้อัตราการจัดเก็บ ภาษีของประเทศไทยในปัจจุบันขยายตัวได้สูงถึง 20% ต่อปี เพื่อให้สามารถรองรับนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการในอนาคตได้” นายสาธิตกล่าว