วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/944/6700

รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ลดอัตราภาษี    เงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี จากอัตรา 30% เหลือ 23% และ 20% ตามลำดับ ดังนี้

สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เพียงหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 23% ของกำไรสุทธิ

สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไปอีกสองรอบระยะเวลาบัญชี ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 20% ของกำไรสุทธิ

ส่วนสาเหตุที่กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเพียง 3 รอบระยะเวลาบัญชี ก็สืบเนื่องมาจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว โดยทั่วไปต้องตราเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรเป็นการถาวร แต่เนื่องจากกระบวนการในการแก้ไขกฎหมายโดยวิธีการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในเบื้องต้นจึงใช้มาตรการตรากฎหมายระดับรอง คือ พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรไว้ก่อน สำหรับการแก้ไขการลดอัตราเป็นการถาวรก็จะได้ดำเนินการต่อไป

ในคราวเดียวกันนี้ได้ปรับปรุงการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่เดิมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก และจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ของกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 150,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 25% และสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกินกว่า 3 ล้านบาท ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 30%

โดยได้มีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว ให้สอดคล้องกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลข้างต้น กล่าวคือ สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ยังคงยกเว้นและลดอัตราเหมือนเช่นเดิม แต่สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกินกว่า 1 ล้านบาทนั้น ลงเหลือ 23% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เพียงหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี และลดลงเหลือ 20% สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไปอีกสองรอบระยะเวลาบัญชี

รวมทั้งปรับปรุงการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและจูงใจการลงทุนในด้านต่าง ๆ ให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศ อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนให้มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สอดคล้องกันไปด้วย ซึ่งมั่นใจว่าจะดึงดูดการลงทุนได้มาก.

ตอนต่อมา...
ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/944/7707


เป็นอันว่า แนวนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้หาเสียงไว้ก่อนรับการเลือกตั้ง ได้ถูกนำมาเป็นนโยบายของรัฐบาล และทยอยนำมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่น กรณีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ของกำไรสุทธิ เป็น 23% แถมรัฐบาลยังใจดีลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 20% ในปีต่อไปอีก นับได้ว่าใจถึงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง แต่อย่างใด

เป็นที่รู้กันดีโดยทั่วไปว่า อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในบ้านเรานั้นสูงกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของเพื่อนบ้าน ทั้ง เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 25% ของกำไรสุทธิ ส่วนสิงคโปร์ จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 17% ของกำไรสุทธิ เท่านั้น

นอกจากนี้ ทั้งสามประเทศยังจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเพียงระดับเดียว คือภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น ไม่เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการจ่ายเงินปันผล ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยของเราที่จัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเป็นสองระดับคือ

ระดับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งปกติที่ผ่านมารวมทั้งในปี 2554 จัดเก็บในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิ คงเหลือกำไรสะสมที่จะนำไปจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนอีก 70% เมื่อมีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรก็จะจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย อีก 10% ของเงินปันผลหรือเงินแบ่งของกำไร

หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นนำกำไรสะสมที่เหลือจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาจ่ายทั้งหมด ก็จะได้จำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายรวมทั้งสิ้นเป็น 7% ของกำไรสุทธิ และเมื่อรวมกับจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตรา 30% ก็จะได้เป็นอัตราภาษีเงินได้ที่เรียกเก็บจากกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้นเป็น 37% ของกำไรสุทธิ

นั่นเองเป็นเหตุผลว่า ทำไมอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดจึงเป็นอัตรา 37% ของเงินได้สุทธิ ทำไมไม่เป็นอัตราอื่น เช่น 40% เพราะอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้าตามจำนวนเงินได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น อันเป็นหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ตามความสามารถในการเสียภาษีเงินได้ โดยเริ่มจาก 5% เป็น 10% เพิ่มเป็น 20% และ 30% ตามลำดับ หากเป็นเลขอนุกรมก็ควรเป็นอัตรา 40%

การกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้เช่นนั้น ก็เป็นเพราะประเทศไทยเราผูกอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้กับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเลือกประกอบธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะประกอบกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดาคนเดียวเป็นเจ้าของ คุณก็ต้องเสียภาษีเงินได้สูงสุดที่อัตรา 37% และแม้คุณเลือกประกอบธุรกิจในรูปบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลคุณก็ต้องเสียภาษีเงินได้สูงสุดที่อัตรา 37% เท่ากัน อันเป็นลักษณะของภาษีอากรที่ดีตามหลักความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ.
ตอนต่อมา..
ที่มา 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ลดภาษีสำหรับกิจการขนาดย่อม
การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม” ซึ่งเดิมจะหมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่ตามกฎหมายใหม่เพิ่มเงื่อนไขเกี่ยวกับการมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาทด้วย จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท และได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิน 150,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาทลงเหลือ 15% และกำไรสุทธิในส่วนที่เกินกว่า 1 ล้านบาท ให้เสียในอัตรา 23% สำหรับรอบบัญชีปี 55 และลดลงเหลือ 20% สำหรับรอบบัญชีปี 56 เป็นต้นไป

คำว่า “รายได้จากการขายสินค้า” หมายถึง รายได้จากการขายสินค้า ที่เป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น ไม่รวมถึงการขายทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ หรือเพื่อการอื่นใดที่มิใช่เพื่อการขาย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำการใด ๆ ดังนี้

1. การจำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า 2. การสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว หรือ 3. การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

คำว่า “รายได้จากการให้บริการ” หมายถึง รายได้จากการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กฎหมายจะมุ่งพิจารณาเฉพาะประเด็นการให้บริการ ไม่ใช่การตีความอย่างแคบว่า หากไม่ใช่การขายสินค้า ก็ให้ถือเป็นการให้บริการทั้งสิ้น แม้ธรรมชาติการกระทำนั้น จะไม่ใช่การให้บริการ หากเป็นกฎหมายพิเศษที่มุ่งเน้นการให้บริการอย่างแท้จริง

ดังนั้น รายได้จากการขายทรัพย์สินที่มิใช่การขายสินค้า รายได้จากเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไร กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นรายได้เนื่องจากกิจการปกติทั่วไป ซึ่งมิได้มีการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ หรือกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญา เงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลือให้เปล่า รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ที่ได้จากการส่งเสริมการขาย รางวัลจากการประกวดแข่งขันหรือชิงโชค ย่อมไม่อยู่ในส่วนของรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการจำนวน 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ หากในรอบระยะเวลาบัญชีใดกิจการดังกล่าวมีทุนเรียกชำระแล้วเกินกว่า 5 ล้านบาทหรือมีรายได้เกินกว่า 30 ล้านบาท ก็ให้หมดสิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตลอดไป จะหวนกลับมาได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอีกไม่ได้.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2554


ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/944/14618


กำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2554 ได้แก่ ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91 และ ภ.ง.ด.95 ท่านให้ผู้มีเงินได้หรือผู้ต้องเสียภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ซึ่งก็คือภายในเดือนมีนาคม 2555 นี้นั่นเอง   

สำหรับปีนี้วันที่ 31 มีนาคม 2555 อันเป็นวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบดังกล่าวตามกฎหมายตรงกับวันเสาร์ ซึ่งตามกฎหมายต้องเลื่อนหรือขยายเวลาออกไปเป็นวันเปิดทำการวันแรกคือ วันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2555 โดยอัตโนมัติ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 117/2545  

ขอเรียนทบทวนผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการสำหรับเงินได้ที่ถึงเกณฑ์ยื่นแบบแสดงรายการกันอีกครั้งหนึ่งดังเช่นทุกปี ดังนี้ครับ

ท่านผู้มีเงินได้ที่บรรลุนิติภาวะหรือตามกฎหมายเรียกว่า “ผู้มีความสามารถ” ให้ท่านผู้มีเงินได้เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ โดยเฉพาะท่านจะเป็นคนโสด หรือแม้แต่กรณีมีสามีภริยา โดยที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ แต่ความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี เช่น เพิ่งสมรส หรือหย่า หรือตายจากกัน หรือศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญระหว่างปีที่ผ่านมา ให้ต่างฝ่ายต่างยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ในส่วนของตน โดยไม่ต้องถือเอาเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามีแต่อย่างใด เพราะความเป็นสามีภริยายังมิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี

สำหรับกรณีสามีภริยาที่ความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี แต่สามีหรือภริยาเพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าความเป็นสามีภริยาจะได้มีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ ให้สามีหรือภริยาฝ่ายที่เป็นผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ในส่วนของตน โดยนำคู่สมรสมาหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท 

กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือเอาเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ เว้นแต่ ภริยามีเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นหรือไม่ ภริยาจะใช้สิทธิแยกคำนวณและยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 เพื่อเสียภาษีสำหรับเงินได้จากการจ้างแรงงานในส่วนของตนต่างหากจากสามีก็ได้

กรณีผู้เยาว์ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้มีเงินได้

กรณีผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ให้ผู้อนุบาลเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้มีเงินได้

กรณีผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้มีเงินได้

กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ ให้ผู้จัดการอันก่อให้เกิดเงินได้เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้มีเงินได้

กรณีผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี รวมทั้งกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ให้ผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้มีเงินได้

กรณีตั้งตัวแทนจัดการทรัพย์สิน ให้ตัวแทนหรือทรัสตีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้มีเงินได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น