วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความรู้ทางบัญชีและภาษี

มีคำสั่งอายัดเงินของลูกจ้าง นายจ้างทำอย่างไร?

ที่มา :http://www.dlo.co.th/node/405

ผู้เขียน: 
นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์ ที่ปรึกษากฏหมาย

มักจะมีคำถามมาจากผู้ประกอบการอยู่เสมอ เมื่อได้รับจดหมายจากกรมบังคับคดีให้อายัดเงินเดือนลูกจ้างแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หากฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างไร

ก่อนอื่น ท่านผู้อ่านจะต้องเข้าใจก่อนว่า การมีคำสั่งอายัดกรณีนี้ หมายความว่า ลูกจ้างได้ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ ลูกจ้างอาจจะเป็นหนี้จำนวนหนึ่ง เช่น หนี้บัตรเครดิตหรือหนี้เงินกู้ธนาคาร แล้วต่อมาผิดนัดไม่ใช้หนี้ จนกระทั่งลูกจ้างผ่านการถูกฟ้องคดีแพ่งและศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกจ้างชำระ หนี้แล้ว แต่ลูกจ้างไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงได้ร้องขอต่อศาลให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สิน ของลูกจ้างเพื่อออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ต่อไปตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยคงเหลือเงินให้กับลูกจ้างเพื่อดำรงชีพปกติได้เพียงไม่เกินเดือนละหนึ่ง หมื่นบาท

ผู้ประกอบการบางท่านไม่ทราบ ปล่อยปละละเลย หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าว ยังคงจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามปกติ  เนื่องจากสงสารลูกจ้าง เพราะปกติแล้วลูกจ้างถูกหักเงินหลายประเภทอยู่แล้ว ไม่ว่าจะประกันสังคม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินกู้สวัสดิการบริษัท เป็นต้น ลูกจ้างแทบจะไม่เหลือเงินพอใช้ในแต่ละเดือน  หากจะต้องหักเงินนำส่งกรมบังคับคดี ลูกจ้างจะดำรงชีวิตอยู่  จะทำงานให้ดีได้อย่างไร  แต่โปรดทราบว่า หากนายจ้างไม่ดำเนินการ  เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบชดใช้หนี้แทนลูกจ้างเสมือนกับว่า ผู้ประกอบการรายนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้

ที่กล่าวมาเป็นทฤษฏีทางกฎหมาย แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว หากผู้ประกอบการไม่ได้หักเงินลูกจ้างไว้เพื่อนำส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะ สามารถแก้ต่างต่อศาลได้หรือไม่ ซึ่งกรณีดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า  ยังคงเป็นไปได้ยากอยู่ดี เพราะถือว่า คำสั่งอายัดได้ปิดปากผู้ประกอบการเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม หากลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ ผู้ประกอบการอาจแถลงต่อศาล อ้างความสุจริตของตนเพื่อขอผ่อนผันต่อศาล และดำเนินการหักเงินส่งให้กับกรมบังคับคดีจนครบจำนวน แต่หากลูกจ้างได้พ้นจากสภาพการเป็นลูกจ้างไปก่อนแล้ว ผู้ประกอบการก็คงจะต้องรับผิดชดใช้ให้กับเจ้าหนี้ตามจำนวนที่มิได้หักค่า จ้างนำส่งให้กับกรมบังคับคดี เว้นแต่ฝ่ายเจ้าหนี้จะได้ทิ้งคำร้องไม่นำพยานไปสืบพิสูจน์ต่อศาลเสียแล้ว

ท้ายสุดนี้  เชื่อว่า เมื่อลูกจ้างถูกหักเงินจากผู้ประกอบการได้ไม่นาน ก็คงจะลาออกแล้วหนีไปหางานใหม่ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามตัวไม่ได้ เพราะทำงานต่อไปก็ได้เงินไม่พอใช้ ท่านผู้ประกอบการทั้งหลาย หากได้รับหมายอายัดเงินลูกจ้างเมื่อใด ให้เตรียมตัวเตรียมใจได้เลยว่า จะเสียลูกจ้างรายนี้ไปไม่เร็วก็ช้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น