วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข่าววันที่ 11 กค. 2554

รัฐบาลเพื่อไทยชู3บิ๊กโปรเจกต์ 

พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยว่ารัฐบาลเพื่อไทย เตรียมเดินหน้าเมกะโปรเจกต์3โครงการ ได้แก่

โครงการถมทะเลต้นทุนต่ำ เพื่อนำไปใช้เป็นพื้นที่สาธารณะ และประกาศขายนำกำไรไปพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบ

โครงการที่2 พัฒนาโครงการขนส่งระบบรางเพื่อขยายความเจริญออกไปจากกรุงเทพฯ

และโครงการที่3 ระบบการจัดการน้ำ 25 ลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นการจัดการระบบชลประทานใหม่ให้มีน้ำใช้ตลอด

ที่มา :http://bit.ly/r4UfZY  จากโพสต์ทูเดย์
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กูรูเสื้อผ้าหน้าผมเมาท์ยิ่งลักษณ์ 

นับตั้งแต่ตัดสินใจมาลงสมัคร สส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นที่จับตามองของสังคม ยิ่งพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอีกไม่กี่วันข้างหน้า ไม่ว่าจะเยื้องย่างไปทางไหนก็กลายเป็นจุดสนใจ โดยเฉพาะการแต่งเนื้อแต่งตัว ตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม ใครหน้อ...เป็นคนดูแล ส่วนจะเตะตาต้องใจเหล่าสไตลิสต์กูรูผู้มีความรู้เฉพาะด้านหรือไม่มีนานา ทัศนะแตกต่างกันออกไป
ในมุมมองของช่างผมคนดัง เล็ก-สายสุดา เชื้อวิวัฒน์ ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการแฟชั่นผมมาอย่างยาวนานถึง 32 ปี ปัจจุบันนอกจากเป็น Master Ambassador of L’Oreal Professional แล้ว เธอยังต้องดูแลกิจการซาลอนผมในกลุ่ม KG Group อีกด้วย สายสุดา บอกว่า แวบแรกที่เธอเห็นยิ่งลักษณ์บนโปสเตอร์หาเสียง ก็บ่งบอกได้แล้วว่า ว่าที่นายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทยมีลุคที่สะท้อนภาพหญิงสาวธรรมดา อ่อนหวาน ติดดิน และรักสวยรักงามอยู่แล้ว
ถึงแม้เธอจะอยู่ในทรงผมที่เรียบ แต่จากสายตาช่างผมก็รู้ว่า ยิ่งลักษณ์ผ่านการกรูมมิงจากร้านซาลอนมาเป็นอย่างดี ไม่ใช่ผมตรงที่ไม่ได้ทำอะไรเลย รู้เลยว่าเธอค่อนข้างให้ความสำคัญกับความรักสวยรักงาม เพราะยิ่งลักษณ์มีสุขภาพเส้นผมที่ดี เส้นผมมีน้ำหนักและเงางาม
“คุณยิ่งลักษณ์ลุคที่ดูจากเส้นผมไม่ใช่ผู้หญิงคอนเซอร์เวทีฟ แต่เป็นผู้หญิงที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพผมที่ดี ไม่ใช่คนปล่อยปละละเลย เส้นผมมีประกายเงางาม มีการม้วนปลาย ผ่านการเซตมาอย่างดี เห็นกี่ครั้งๆ เวลาออกสู่สายตาประชาชนก็ยังดูดี สวยงาม” ช่างผมคนดังเปรย
ยิ่งลักษณ์เมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศแล้วจะ เปลี่ยนทรงผมหรือไม่ไม่มีใครทราบ แต่ช่างเล็กแนะนำว่ายิ่งลักษณ์โชคดีเพราะรูปหน้าไข่ เป็นใบหน้าที่สวยสมบูรณ์แบบ หากจะเปลี่ยนทรงผมใหม่ จะไว้สั้นหรือยาวได้หมด แต่ถ้าอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองให้กลายเป็นสาวคล่องแคล่วขึ้น ก็สามารถตัดผมให้สั้นลงได้ แต่จะดูกร้าวนิดหนึ่ง อาจจะยาวประบ่า เหมาะกับการออกกลางแจ้งพบปะประชาชน เวลาจะจัดแต่งทรงจะง่ายขึ้น ลุคออกมาเป็นผู้หญิงทำงาน
อีก 1 ทรงที่ช่างเล็กอยากแนะนำคือ การเลเยอร์ผม ให้เล่นระดับให้มีความยาวถึงระดับคาง เกือบถึงไหล่ พ้นไหล่ขึ้นมาประมาณ 1 นิ้ว และตัดเลเยอร์เพื่อผมมีวอลุมธรรมชาติ ผมจะดูเป็นธรรมชาติ และมีสุขภาพผมที่ดี
สำหรับสีสันบนใบหน้าของยิ่งลักษณ์ ทิวา วงศ์รักษ์ ซีเนียร์ เนชันรอล เมกอัพอาร์ติส บริษัท เอลก้า ประเทศไทย มองว่า มีดวงตาที่สวยและมีพลัง จึงควรแต่งโทนสีสโมกกีอายที่เน้นดวงตาให้มีพลังมากขึ้น เมื่อเราดูผ่านสื่อ เห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์มีขั้นตอนการแต่งหน้าที่มีบุคลิกที่โดดเด่น ไม่ใช้โทนสีที่จัดจ้าน ไม่เข้ม แต่งแล้วดูเป็นธรรมชาติ เน้นจุดใดจุดหนึ่ง บางวันเน้นดวงตา คิ้วก็วาดเพียงบางๆ ไม่แต่งหน้าแบบแข่งกัน แต่ก็มีเหมือนกันที่ยิ่งลักษณ์พลาด แต่งหน้าแบบเน้นทั้งตา แก้ม และปาก ถือว่าเยอะเกินไป
“บางวันคุณยิ่งลักษณ์ออกสื่อ สีปากเป็นสีกลางๆ ไปจนถึงเข้ม แต่ทุกส่วนอ่อนหมด ถือว่าถูกต้อง เพราะเวลาคุณยิ่งลักษณ์พูดคนจะมองที่ปาก ผู้ฟังจะได้รับฟังสารอย่างเต็มที่ แต่คุณยิ่งลักษณ์เป็นผู้หญิงที่ถือว่าแต่งหน้าง่ายมาก เพราะมีรูปหน้าที่สวยคือรูปไข่ ทุกจุดบนใบหน้าสวยอยู่แล้ว ต้องดึงจุดเด่นขึ้นมาเพียงจุดเดียว”
สำหรับโทนสีที่จะแนะนำคือ คุมโทนสีอยู่ในโทนช็อกโกแลต ไทเกอร์ อาย หรือโทนสีเอสเปรสโซ ถือเป็นโทนสีกลางๆ จะทำให้บุคลิกดูน่าเชื่อถือ โทนสีต้องไม่จัดจ้าน
เธอบอกว่า วันไหนยิ่งลักษณ์แต่งตาเป็นโทนสีสโมกกีอายตอนเช้า ตอนเย็นจะไปอีกงาน ก็แค่เปลี่ยนสีลิปสติกเป็นสีอื่นก็ยังคงภาวะความเป็นผู้นำดูน่าเกรงขาม แต่แก้มต้องเป็นสีนู้ด ไม่อย่างนั้นจะดูตลก อย่างยิ่งลักษณ์ควรแต่งตาด้วยโทนสีสโมกกีอาย เพื่อเสริมความมั่นใจ อายไลเนอร์ และมาสคาราก็ต้องสีดำเท่านั้น สีน้ำตาลไม่เหมาะ
สำหรับคิ้วก็ต้องโทนสีเบาลงมา แก้มก็โทนสีกลางๆ ดูสดในพอประมาณ แล้วก็มาเน้นปาก จะเป็นสีกลางไปถึงเข้ม ทูโทน บราวน์โทนได้หมดเลย ริมฝีปากไม่ควรทาลิปกลอสมันเลื่อม เพราะเวลาออกทีวี ลิปกลอสจะทำให้ปากดูมีรีเฟล็กซ์ปากดูมันวาวเกินไป แทนที่คนจะฟังข้อมูล เปลี่ยนมาสนใจที่ปากแทน
อีกมุมมองหนึ่งของ ปฏิญญา เกี่ยวข้อง บรรณาธิการแฟชั่นนิตยสารเซเวนทีน ให้ความเห็นว่า ยิ่งลักษณ์แต่งตัวได้เฟิสต์อิมเพรสชันนิสในแบบบุคลิกกลางๆ ไม่มีอะไรทิ่มแทงสายตา ทรงผมโอเค. แต่งหน้าก็กำลังดี ไม่มีอะไรให้น่าวิพากษ์วิจารณ์ หรือดูโดดเด่นอะไรมากนัก
แต่สิ่งที่อยากให้ปรับอีกเล็กน้อยคือ ภาพที่เห็นในวันนี้ดูเป็นนักธุรกิจ มากกว่านักการเมืองมืออาชีพ อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ยิ่งลักษณ์สวมกางเกงเข้าชุดกับสูททับด้วยเสื้อตัวใน รวม 3 ชิ้น แบบที่เรียกว่า Paint Suits เป็นชุดที่ทะมัดทะแมงในการลงสนามหาเสียง แต่กลับยังไม่น่าประทับใจในฐานะนักการเมืองหญิงแข็งแกร่งสักเท่าไร
“อยากให้คุณยิ่งลักษณ์ลองเปลี่ยนมาสวมกระโปรงมากกว่านี้ค่ะ ทรงที่ผู้หญิงใส่แล้วลุคทรงพลังมากคือ กระโปรงทรงดินสอ ยิ่งคุณยิ่งลักษณ์สูงโปร่งกว่ามาตรฐานหญิงไทยทั่วไปอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ดูแข็งแกร่ง นักการเมืองหญิงที่แต่งตัวแล้วดูโปรเฟสชันแนลมากที่สุด ดิฉันขอยกให้ ฮิลลารี คลินตัน ทุกอิริยาบถดูมืออาชีพมาก” ปฏิญญาแนะชุดสูทซูเปอร์แบรนด์ ผ้าทวีตของชาแนล หรือดิออร์ ใครสวมก็ดูภูมิฐานคลาสสิก
แต่ถ้ากลัวถูกวิจารณ์สวมแบรนด์หรูหราเกินไป ผ้าไหมไทยก็ใส่ได้ ถ้าลองหันมาใส่สีสันบ้างก็จะทำให้สภาสดใสขึ้น แต่ก็ควรระวังสีสว่างๆ เกินไป เพราะเราคงไม่ต้องการนายกรัฐมนตรีแฟชั่นนิสตา แต่นายกฯ ควรภูมิฐาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเฮดทูโทนดำไปหมดทั้งตัว สูทคลุมสะโพกบน สีที่ใส่ได้ทุกกาลเทศะ เช่น เบจ เทาหรือเทาชาโคล แมตช์กับกระโปรงสีดำ มีลูกเล่นที่ปกเชิ้ต หรือเบลาซ์ผูกโบ
ส่วนเครื่องประดับไม่ควรมากมายนัก เช่น ต่างหูเพชร หรือมุกเล็กๆ ใส่กับสร้อยเส้นยาวหรือเป็นโซ่เล็กๆ เบาๆ แต่ภาพรวมดูดีทั้งหน้าตาผิวพรรณและรูปร่างสวมใส่อะไรก็ดูดี
ได้ยินได้ฟังสไตลิสต์ด้านเสื้อผ้าหน้าผมแนะแบบนี้ฟังไว้บ้างก็ดี บางทีสื่อต่างประเทศจะจับจ้องมองเหมือน มิเชล โอบามา ภริยาประธานาธิบดีสหรัฐ หรือ ซาแมนธา คาเมรอน ภริยาสาวของนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ซึ่งเธอทั้งสองไม่ว่าไปทางไหนก็มีแต่สื่อจับจ้องมองการแต่งตัว นายกฯ ปูอาจจะขึ้นทำเนียบผู้นำสวยติดอันดับโลกก็ได้ใครจะไปรู้ !!!

ที่มา :- http://bit.ly/rb4Phi  ขอบคุณโพสต์ทูเดย์
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

นโยบายเพื่อไทย ทำลายขีดความสามารถ การแข่งขันไทยในเวทีโลก 

มีนโยบายที่ทำแล้วกระทบกับโครงสร้างเศรษฐกิจอยู่ 2 ประการ คือ นโยบายการจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท สำหรับแรงงานที่เข้าสู่ระบบใหม่ หากจบปริญญาตรีจะมีเงินเดือนเริ่มต้น 1.5 หมื่นบาท และจะขึ้นเงินเดือนแรกเข้าพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็น 1.5 หมื่นบาทเช่นกัน

แต่จะแลกกับการที่รัฐบาลจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เช่นกัน

ทางด้านนโยบายค่าเงินนั้น พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่ยังไม่ชัดเจน เพราะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยทีมเศรษฐกิจมีความเห็นว่าจะทำค่าเงินบาทคงที่ แต่ ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นจะปล่อยค่าเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่เชื่อว่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าจากเงินไหลเข้าเมื่อการเมืองมี เสถียรภาพ

แค่เพียงสองนโยบายนี้ก็ให้เอกชนแตกตื่นได้พอสมควร เพราะเกรงว่านโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะในเรื่องค่าจ้างนั้นจะไปกระทบกับโครง สร้างค่าจ้างทั้งประเทศ ไม่เพียงแต่ของเอกชน แต่ทั้งข้าราชการและรัฐวิสาหกิจก็จะได้รับการปรับเงินเดือนยกแผงเช่นกัน

สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น หากรัฐบาลจะทำจริงก็ทำได้ แต่อธิบดีกรมบัญชีกลางก็ระบุออกมาแล้วว่า หากปรับเงินเดือนให้พนักงานแรกเข้า ก็จะต้องปรับให้กับข้าราชการทุกระดับชั้นไล่กันขึ้นไป ซึ่งจะใช้เงินมหาศาล หากจะทำก็จะต้องทำเป็นขั้นบันไดดีกว่า

ส่วนเอกชนนั้น รัฐบาลคงจะไปบังคับให้จ่ายค่าจ้างได้ นอกจากจะแก้ไขกฎหมาย ล้มคณะกรรมการไตรภาคี ที่มาจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐ ที่ก่อนจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งใช้เวลานานหลายเดือนกว่าทั้งสามฝ่าย จะตกลงกันได้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เอกชนเริ่มสงสัยว่ารัฐบาลจะส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือทำลายขีดความสามารถการแข่งขันกันแน่ เพราะค่าแรงงานของไทยจะสูงกว่าเพื่อนบ้านโดยเฉพาะแรงงานไม่มีฝีมือ และจะทำให้เกิดการไหลออกของการลงทุน หรือต่างชาติจะเข้ามาลงทุนใหม่ก็จะชะงักการลงทุนหันไปลงทุนในประเทศอื่นที่ มีค่าจ้างต่ำกว่า

ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีเบี้ยน้อยหอยน้อยอยู่แล้ว จะยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการจ้างคนงาน วิธีการหนีตายก็คือจ้างงานลดลงเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้เท่าเดิม

ปัจจุบันหน่วยงานเอกชนก็จ้างงานตามฝีมือแรงงานอยู่แล้ว หากมีความเชี่ยวชาญพิเศษในอาชีพหรือเป็นแรงงานมีฝีมือก็จะได้ค่าจ้างสูงกว่า ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงไม่เห็นด้วยว่าการจะใช้ค่าจ้างเท่ากันทุกพื้นที่ โดยไม่แยกแรงงานมีฝีมือหรือไม่มีฝีมือ เพราะจะสร้างปัญหามากกว่าจะใช้ค่าจ้างเป็นเครื่องมือแบ่งแยกฝีมือแรงงาน

พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากให้ภาคธุรกิจแบกภาระเพิ่ม อาจกระทบต่อการจ้างงานหรือการย้ายฐานผลิตในอนาคตได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางให้ชัดเจน

“เรื่องค่าแรงงานก็น่าจะยึดมติไตรภาคี เข้าใจดีว่าค่าแรงงานเท่าไหร่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ใดบ้าง ไม่ควรขึ้นแบบไร้เหตุผล” รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อครั้งรัฐบาลก่อนค่าบาทแข็งเกินไปจนกระทบต่อการผลิตและการส่งออก ทำให้หลายธุรกิจประสบปัญหา ก็ร้องขอให้แก้ไขด่วน เพื่อให้ค่าบาทไม่แข็งหรืออ่อนเกินประเทศคู่แข่ง เมื่อปัญหาหมดลง การส่งออกและการทำธุรกิจก็ดีขึ้น อยากให้รัฐบาลใหม่ฟังความเห็นของภาคเอกชนด้วยว่านโยบายนั้นทำแล้วได้ผลดี น้อยกว่าผลเสียหรือไม่ หากกำหนดผิดระยะยาวจะเป็นโทษกับประเทศเอง เช่น ส่งออกข้าว หากบาทแข็งแต่คู่แข่งอย่างเวียดนามค่าเงินด่องอ่อนตัวต่อเนื่อง ข้าวไทยก็แพงกว่าเวียดนาม เราจึงมีปัญหาในเรื่องการส่งออกได้ยากขึ้นมาตลอด

ทำไมภาคเอกชนถึงบ่นเรื่องต้นทุนสูงและบ่นถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน มากนัก คำตอบคือ นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่านโยบายเงินบาทแข็งไม่ได้แก้ปัญหาเงินเฟ้อเพราะเงินเฟ้อมาจากหลาย ปัจจัย ตรงกันข้ามการใช้นโยบายบาทแข็งคือการฆ่าตัวตายเพราะประเทศไทยมีโครงสร้าง เศรษฐกิจพึ่งพาส่งออก ทำให้มีรายได้เข้าประเทศคิดเป็น 70% ของรายได้รวมแต่ละปี เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้เงินหายจากระบบเมื่อคำนวณส่วนต่างของค่าเงิน หรือค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลงถ้าโดนประเทศคู่แข่ง ตัดราคา

IMD หรือ Institute for Management Development ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชน ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2554 จากการทำการสำรวจ 59 ประเทศทั่วโลก พบว่ากลุ่มอาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันลดลงยกกลุ่ม และ WEF หรือ World Economic Forum เป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงกำไร ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีเกณฑ์ในการจัดอันดับที่แตกต่างกัน สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้

ประเทศไทยมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 26 ในปี 2553 เป็นอันดับที่ 27 ในปี 2554 โดยสิงคโปร์ที่เคยอยู่ในอันดับที่ 1 ในปีที่ผ่านมาลดลงมาเป็นอันดับที่ 3 รองจากฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา มาเลเซียลดลงจากอันดับที่ 10 เป็น 16 ในปีนี้ ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 35 และ 39 เป็นอันดับที่ 37 และ 41 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยที่ได้รับ กลับมีคะแนนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากคะแนนเฉลี่ย 73.2 ในปี 2553 เป็น 74.9 ในปี 2554 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของประเทศไทย แต่ยังคงน้อยกว่าบางประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ที่เคยมีอันดับต่ำกว่าประเทศไทยและสลับกลับขึ้นมามีอันดับสูงกว่าประเทศไทย 1 อันดับในปีนี้ จากอันดับที่ 27 ในปี 2553 เป็นอันดับที่ 26 ในปี 2554 และ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การที่ประเทศไทยจะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกเหนือจากการพิจารณาปัจจัยภายในประเทศแล้ว ยังต้องคำนึงถึงพัฒนาการของประเทศอื่นๆ

จากการสำรวจตามแบบสอบถามที่บริษัทจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันส่ง ไปยังนักธุรกิจทั่วโลก ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหามากที่สุด 5 อันดับในการทำธุรกิจในประเทศไทย คือ ปัญหาด้านความมั่นคงของรัฐบาลและความเสี่ยงในการมีรัฐประหาร ความไม่มั่นคงของนโยบาย ระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ การคอร์รัปชัน และปัญหาด้านเงินเฟ้อ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัญหา 4 ใน 5 ข้อ ล้วนมาจากเกณฑ์ด้านสถาบันและโครงสร้างการบริหารราชการ

จุดที่ยังต้องปรับปรุง ได้แก่ ระดับรายได้ต่อคนของประชากร การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่ค่อนข้างต่ำ ด้านการศึกษาที่อัตราส่วนของครูต่อนักเรียนยังสูง ในขณะที่อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมยังต่ำ
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ระยะเวลาที่ใช้ในการเริ่มตั้งธุรกิจใหม่ ผลิตภาพของแรงงานและของประเทศโดยรวม และเรื่องที่มีประเด็นที่ต้องปรับปรุงค่อนข้างมาก คือ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร และอินเทอร์เน็ต จำนวนบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศยังน้อย

แม้ค่าจ้างจะไม่ได้อยู่ในจุดอ่อนของประเทศไทย แต่เรื่องระดับความสามารถฝีมือแรงงานนั้นอยู่แน่ๆ เพราะการจะพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ขั้นของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูก ขึ้น จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือทักษะสูงกว่าที่เป็นอยู่

การขึ้นค่าจ้างนั้น โดนทุกฝ่ายวิพากษ์แล้วว่าจะเป็นแรงกดดันให้เกิดเงินเฟ้อมหาศาล เพราะมีการคาดการณ์ค่าจ้างล่วงหน้า ราคาสินค้าก็จะปรับราคาไปดักหน้าไว้ก่อนทุกครั้ง และยิ่งในปีนี้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตจะมีแนวโน้มระดับราคาสูงต่อเนื่องหรือทรง ตัว โอกาสที่จะเห็นเงินเฟ้อต่ำจึงยากมาก

ดังนั้น นโยบายหลายประการของพรรคเพื่อไทย ที่ได้ประกาศออกมาเมื่อครั้งที่หาเสียง เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ โดยเฉพาะไปขัดกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ ทักษิณ ชินวัตร มักจะกล่าวว่า จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น

แต่นโยบายที่ขัดกับยุทธศาสตร์ของตัวเอง และจะไปทำลายขีดความสามารถในการแข่งขัน มากกว่าจะไปช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ในที่สุดแล้วก็จะต้องถูกทบทวน หากทนต่อกระแสไม่ได้
แต่ทางออกให้สวยงามหากไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชนเมื่อตอนหา เสียงนั้น เชื่อว่างานนี้คงมีการโยนบาปให้เอกชนว่า การที่ไม่สามารถขึ้นค่าจ้างได้ตามสัญญาเพราะเอกชนคัดค้าน ไม่ใช่รัฐบาลไม่อยากทำ

ที่มา :- http://bit.ly/nbSzT0  ขอบคุณโพสต์ทูเดย์
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น